โรคเบาหวานเกิดจากอะไร มีกี่ชนิด อะไรบ้าง

  • 524
โรคเบาหวานเกิดจากอะไร มีกี่ชนิด อะไรบ้าง

โรคเบาหวานมีกี่ชนิด

โรคเบาหวานแบ่งได้เป็น 3 ชนิดหลักๆ ได้แก่ เบาหวานชนิดที่ 1 เบาหวานชนิดที่ 2 และเบาหวานขณะตั้งครรภ์  แต่ถึงแม้เบาหวานชนิดที่ 1 และเบาหวานชนิดที่ 2 จะส่งผลให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูง และนำไปสู่ภาวะแทรกซ้อนที่เป็นอันตรายได้ทั้งคู่ แต่ก็มีความแตกต่างกันในหลายด้าน เรามาดูรายละเอียดกัน

 

เบาหวานชนิดที่ 1 (พบได้น้อยกว่าชนิดที่ 2) โดยในผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมดจะพบได้ประมาณ 5-10% เบาหวานชนิดนี้เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกัน จนทำให้เกิดการทำลายเซลล์ที่ทำหน้าที่สร้างอินซูลินในตับอ่อน ส่งผลให้ร่างกายไม่สามารถสร้างอินซูลินได้อีกต่อไป ผู้ป่วยจึงต้องรักษาด้วยอินซูลินทุกวัน เบาหวานชนิดที่ 1 ไม่สามารถป้องกันได้ และมักตรวจเจอในเด็กและวัยรุ่น จึงมีอีกชื่อหนึ่งว่า "โรคเบาหวานในเด็กและวัยรุ่น"

 

เบาหวานชนิดที่ 2 เกิดจากภาวะดื้ออินซูลิน ส่งผลให้อินซูลินที่ทำหน้าที่ลดระดับน้ำตาลในเลือดทำงานได้ไม่ดี ทำให้ร่างกายไม่สามารถนำอินซูลินมาใช้ได้อย่างปกติ และไม่สามารถควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้เป็นปกติ โดยในผู้ป่วยเบาหวานทั้งหมดจะพบได้ประมาณ 90-95%
อาการของเบาหวานชนิดที่ 2 ไม่ได้เกิดขึ้นเร็วอย่างโรคเบาหวานชนิดที่ 1 แต่จะค่อยเป็นค่อยไป และอาจไม่รู้ตัวแม้ผ่านไปหลายปี ทำให้มักตรวจเจอในวัยผู้ใหญ่มากกว่า อย่างไรก็ตามในปัจจุบัน เบาหวานชนิดที่ 2 มีแนวโน้มเกิดกับคนอายุน้อยมากขึ้น ซึ่งเบาหวานประเภทนี้ เกิดจากพฤติกรรมการกิน และขาดการออกกำลังกายที่นำไปสู่ภาวะน้ำหนักเกิน

 

เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เกิดจากการเปลี่ยนแปลงฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์ ที่ส่งผลให้เซลล์ของร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินน้อยลง  ทารกที่คุณแม่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะมีความเสี่ยงต่อปัญหาสุขภาพต่างๆ มากกว่าเด็กทั่วไป รวมทั้งมีแนวโน้มเกิดโรคอ้วน และโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในภายหลัง ซึ่งสำหรับตัวคุณแม่เอง แม้เบาหวานชนิดนี้มักจะหายไปหลังคลอดบุตรแล้ว แต่ก็จะเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดภาวะเบาหวานชนิดที่ 2 ตามมาภายหลังด้วยได้เช่นกัน

 

การตรวจเช็คน้ำตาลในเลือด

การตรวจเช็คน้ำตาลในเลือด

 

โรคเบาหวานเกิดจากอะไร

จากรายละเอียดข้างต้น สรุปได้ว่า เบาหวานชนิดที่ 1 ปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุและปัจจัยที่ทำให้เกิดโรค จึงยังไม่มีวิธีป้องกัน ส่วนผู้ป่วยโรคเบาหวานชนิดที่ 2 สามารถป้องกันหรือชะลอระยะของโรคให้ช้าลงด้วยการปรับพฤติกรรม เช่น กินอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ควบคุมน้ำหนักไม่ให้มากเกินไป และออกกำลังกายบ่อยๆ ทั้งนี้เนื่องจากโรคเบาหวานชนิดที่ 2 มักไม่มีอาการแสดงใดๆ ทำให้ผู้ป่วยไม่ทันรู้ตัว จึงแนะนำให้ผู้ที่มีความเสี่ยง เข้ารับการตรวจระดับน้ำตาลในเลือดเป็นประจำทุกๆ ปี

 

บทความสุขภาพอื่นๆ